ผมเลื่อนดูเฟซบุ๊กในช่วงนี้กับ PlayStation 5 ที่โผล่ขึ้นมาให้เห็นเต็มฟีด อยู่ ๆ ก็คิดถึงพวกหนังสือบทสรุปเกม กับนิตยสารเกมเก่า ๆ ขึ้นมา การหาเสพข่าวเกม ในยุคที่อินเทอร์เน็ตยังไม่ได้เข้าถึงผู้คนมากมายขนาดนี้ จะว่าไปแล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะสังคมบ้านเราเมื่อก่อน ก็มักจะมองเกมในฐานะของวายร้ายมาตลอด ถึงจะเคยมีรายการโทรทัศน์ที่ผลิตขึ้นเพื่อทำเนื้อหาเกี่ยวกับเกมจริงจัง แต่สุดท้ายแล้วก็มักจะอยู่ไม่รอด คงเป็นเพราะเกมมันเป็นเรื่องของคนเฉพาะกลุ่มมากเหมือนกันในตอนนั้น
.
และหนังสือเกมน่าจะเป็นสิ่งเดียวที่เข้ามาเติมเต็มสิ่งนี้ที่ขาดหายไป ข้อมูลเกมเชิงลึก และบทสรุปเทพ ๆ ที่ทำให้ผู้ใดก็ตามที่มีมันในครอบครอง จะสามารถเล่นเกม ๆ นั้นได้เก่งกาจกว่าเพื่อน เนื้อหาเหล่านี้ปรากฎรวมอยู่ภายในหนังสือเล่มหนาปึก ยิ่งกว่าตำราเรียนประวัติศาสตร์ ชวนให้นึกย้อนกลับไปสมัยที่เพื่อนเคยพกหนังสือบทสรุปเกม 'Bully' มาอวดที่โรงเรียน ตอนนั้นคือเรารู้สึกว่ามันเท่มาก ๆ
.
หรือแม้แต่ 'ข่าวเกม' ที่เหมือนจะมีให้เลือกอ่านจนตาลายในปัจจุบัน ก็ช่างแตกต่างจากเมื่อก่อน ที่เราต้องยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อข้อมูลส่วนนี้มาอ่าน อย่างทางฝั่งเกมออนไลน์ที่ผมเก็บไว้ จะมี Weekly Online กับ Gamers Online สำหรับ Weekly Online จะเป็นข่าวเกมออนไลน์แบบเน้น ๆ เกมไหนมีอัพเดทอะไร วิเคราะห์ไอเทมเกมต่าง ๆ หรือบทความแนะนำเกมใหม่ที่กำลังจะเปิดบริการ เนื้อหาหลากหลายหน้า และภาพสีแบบจัดเต็มในราคา 25 บาท จนผมแอบสงสัยเหมือนกันว่าเขาได้กำไรเล่มละกี่บาทกันแน่
.
สำหรับ Gamers Online ภาพสีทุกหน้าเช่นกัน แต่ความหนาของเล่มนั้นช่างบอบบางเหลือเกิน แถมค่าตัวต่อเล่มยังสูงถึง 59 บาท แต่!! เล่มนี้มีทีเด็ดคือ แจกโค้ดไอเทมเกมออนไลน์ทุกเล่มครับ! แปะโชว์หรามาตั้งแต่หน้าแรก แต่ถ้าอยากนำโค้ดไปใช้กับเกมไหนก็ต้องตัดสินใจเลือกกันเอาเองนะ เพราะว่า 1 โค้ดใช้ได้ 1 เกมเท่านั้น บางเล่มมีแนบแผ่นเกมออนไลน์แถมติดมาด้วยอีกต่างหาก (คิดแล้วตลกตัวเอง ไม่อยากบอกแม่ว่าเอาเงินไปเติมเกม ก็อ้างซื้อ Gamers Online แทนนี่แหละ แต่พอได้โค้ดมาก็ขว้างหนังสือทิ้งเลย (ขอโทษทีมงานด้วยครับ))
.
สำหรับฝั่งเกมออฟไลน์ แน่นอนว่าหนีไม่พ้น GameMag
ข่าวเกมออฟไลน์รายสัปดาห์ และบทความแนะนำเกมใหม่ตามกระแส ที่ขนขบวนพาเหรดไล่มาทุกแพลตฟอร์มตั้งแต่ IOS, 3DS , VITA หรือเครื่องคอนโซลอย่าง PS3 , Xbox รวมถึงอีกทีเด็ดสำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้ นั้นก็คือ บทสรุปเกมท้ายเล่มโดยลีลาการเขียนของคุณ Decibel per oxide
(นักทำบทสรุปเกมในตำนาน ผมคิดว่าน่าจะเป็นคนที่เขียนบทสรุปเกมเยอะที่สุดในประเทศไทยแล้วมั้ง) ภายใต้หน้ากระดาษจำนวนเพียงไม่กี่แผ่น แต่กลับสามารถบีบเนื้อหาทั้งเกมมาเล่าได้ ยังเป็นสิ่งที่ทำผมทึ่งมาถึงทุกวันนี้
.
อีกหนึ่งหมวดที่ผมชอบมากใน GameMag ก็คือหมวด Talk With Crew ที่ทีมงานจะเขียนตอบคำถามจากทางบ้าน
ซึ่งคำตอบของแต่ละคำถามก็สุดแสนจะยียวนกวนประสาท (และฮามาก)
.
สำหรับเล่มต่อมา สุดท้ายแล้วครับ ก็คือนิตยสาร Play ของ Future Gamer วู้ฮู้ว สำหรับจุดเด่นของเล่มนี้คือราคาครับ (ล้อเล่น) จุดเด่นคือมีหมวดหมู่ที่ค่อนข้างหลากหลาย เหมือนเวลาที่เราเปิดเว็บไซต์เกมทุกวันนี้ ที่จะมีหมวด ฟีเจอร์, ข่าว, พรีวิวเกม, จัดอันดับนิตยสารเล่มนี้มีให้อ่านครบรสแบบนั้นเช่นกัน ส่วนเรื่องราคาที่ได้เกริ่นไว้ สำหรับฉบับปี 2014 ขายอยู่ที่เล่มละ 100 บาท
.
และจากยุคที่สิ่งต่าง ๆ ล้วนมาจากหนังสือ ไล่ตั้งแต่ข่าว ยันไอเทมในเกม สื่อสิ่งพิมพ์ก็ได้ตายไปเพราะการมาถึงของอินเทอร์เน็ต กลับมามองทุกวันนี้เรามีทั้ง GamingDose, Gamerism และอีกมากมาย (มาก ๆ) ทางฝั่งบทสรุปเกมเราก็มี Youtube ที่เล่นเฉลยเกมกันแบบละเอียดยิบชนิดแทบไม่ต้องเล่นเอง ถ้าไม่รวมค่าอินเทอร์เน็ตรายเดือน ก็อาจพูดได้ว่าทุกอย่างที่เราต้องจ่ายเงินซื้อเมื่อก่อน ก็กลายเป็นของฟรีเต็มรูปแบบแล้วในตอนนี้ จริง ๆ แล้วมันก็เป็นเรื่องที่ดีสำหรับนักอ่านอย่างเรานะครับ แต่ยังไงความรู้สึกตื่นตาตื่นใจตอนเปิดหน้ากระดาษแต่ละแผ่น เพื่อชื่นชมลีลาการจัด Layout ที่สวยงามเป็นระเบียบ รวมไปถึงกิจกรรมร่วมสนุกมากมายที่อยู่ในรูปแบบของการส่งจดหมาย สิ่งเหล่านี้ ก็คงจะเป็นสิ่งที่ชวนคิดถึงทุกครั้งที่ได้ย้อนกลับมาเปิดอ่าน หรือบางครั้งก็ชวนให้สงสัยต่อไปว่า ถ้าสักวันหนึ่งมีสิ่งใดมาแทนที่อินเทอร์เน็ต เนื้อหาเหล่านี้จะต้องเคลื่อนย้ายไปอยู่บนแพลตฟอร์มหน้าตาแบบไหนอีก ....